วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สอนอะไรให้ไทยทันโลก

รูป สอนอะไรให้ไทยทันโลก


สอนอะไรให้ไทยทันโลก
เขาว่ากันว่า ในอีกไม่กี่สิบปี อาชีพบางประเภท เช่น นักบัญชีและเซลส์ขายบ้าน จะหายไปจากโลก เพราะว่าวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ หลายประเทศเริ่มรู้สึกตัวและพยายามเตรียมประชากรรุ่นลูกหลานให้เติบโตขึ้นมาพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้โดยการปรับเปลี่ยนแนวทางการศึกษาให้แฝงเอา 21st century skills เข้าไปในหลักสูตรใหม่ๆ ด้วย
บทความนี้จะไม่กล่าวถึงวิชาเพิ่มเติมที่โรงเรียนควรจะสอนเพื่อที่จะเตรียมเด็กรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือรับมือกับศตวรรษที่ 21 แต่จะเสนอให้ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู หรือผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเด็กๆ ให้คำนึงถึงการสอนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ห้าสิ่งต่อไปนี้ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่ออนาคตของเด็กมากเสียยิ่งกว่าสิ่งที่วิชาย่อยๆ แต่ละวิชานั้นให้แก่เด็กได้อีกด้วยซ้ำ


1. สอนให้ใฝ่รู้
ในโลกข้างหน้านั้นมีโอกาสสูงที่ระบบเศรษฐกิจจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วถึงขั้นที่ว่าบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยเรียน เคยฝึก เคยท่อง เคยจำเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนจะหมดความสำคัญไปโดยสิ้นเชิง วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดโลกสามารถทำให้ทักษะ (skills) หรืองาน (jobs) บางประเภทสูญพันธุ์ไปได้ดื้อๆ

               
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เทคโนโลยีในด้านการศึกษาออนไลน์ กับเทคโนโลยีในตลาดแท็กซี่ ครูจำนวนมากจะตกงานเมื่อตลาดการเรียนออนไลน์โตพอและสามารถพิสูจน์ตัวเองให้กับบริษัทและผู้ประกอบการได้ว่าการเรียนออนไลน์นั้นสามารถผลิตและคัดพนักงานเก่งๆ ออกมาได้ดีกว่าโรงเรียนตัวเป็นๆ ส่วนในกรณีของตลาดแท็กซี่นั้นคงไม่ต้องรอให้ถึง “ยุครถขับเองได้” แค่บริษัทอูเบอร์ (Uber) เปิดเกมรุกโดยการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการใช้มือถือหารถไปรับไปส่งที่บริการดี วาจาสุภาพ และตรงต่อเวลา ก็ทำเอาเหล่าคนขับแท็กซี่และคนขับรถทั้งหลายผวาไปตามๆ กันแล้ว แต่ว่าจะให้ฟันธงว่าอะไรคือสิ่งที่จะมาเปลี่ยนโลกในอีกยี่สิบปีข้างหน้าและอะไรที่จะกระทบคนไทยโดยตรงมากที่สุดนั้นคงทำได้ลำบาก เพราะว่าหากเรานึกดูว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วโลกเราอยู่ตรงไหนคงใจหาย เมื่อยี่สิบปีที่แล้วยังไม่มีกูเกิล บนโลกนี้และไม่มีใครใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทยได้ด้วยซ้ำ

               เพราะฉะนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กมีความใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง สอนให้เด็กมีไฟในแววตาที่จะไม่มอดแม้เวลาจะผ่านไปอีกยี่สิบสามสิบปี แม้ว่าโลกจะหมุนไปถึงไหนแล้ว เด็กๆ จะได้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเอาตัวรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวได้โดยการหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องมีครูมานั่งจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ต้องมีข้อสอบปลายภาคก็ยังอยากค้นหาความรู้อยากฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ หากเราทำเช่นนี้ได้ ไม่ว่าสิ่งที่สอนไปตอนเด็กจะล้าสมัยหรือแม้กระทั่งว่าถูกพิสูจน์ในภายหลังว่าผิดเลยก็ตาม เด็กไทยก็จะยังมีโอกาสอยู่รอดและประเทศไทยก็จะไม่ต้องคอยเดินตามเขาอยู่ลูกเดียวแน่นอน

               ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนี้ทำได้แน่นอนถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ เพราะว่าเราทุกคนเคยมีความใฝ่รู้อันมหาศาลติดตัวมาตั้งแต่เกิดแล้ว ตั้งแต่เล็กคนเราส่วนมากเป็นคนขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น ถามนู่นถามนี่ อยากเอานิ้วไปแยงโน่นแยงนี่ ไฟในแววตามันจะมอดก็เพราะว่าเราโตขึ้นมาในสังคมที่ทำให้การเรียนรู้ไม่สนุกอีกต่อไปเป็นสังคมที่ให้ผลตอบแทนกับการท่องหนังสือเป็นพันๆ หน้า อยากเรียนเคมีก็ต้องจำตารางธาตุให้ได้ก่อน อยากเรียนฟิสิกส์ก็ต้องจำสูตร ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงไม่มีใครต้องจำอะไรมากขนาดนั้น อยากอ่านหนังสือหาความรู้ก็ไปซื้อมาอ่าน อ่านจบแล้วสิ่งที่จำได้ปกติก็คือโครงเรื่องและข้อคิดต่อชีวิตจริง ไม่เห็นต้องจำรายละเอียดทุกรายละเอียด เรื่องนี้โทษใครไม่ได้ ก็คงต้องโทษตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่คอยระดมกันช่วยกันดับไฟธรรมชาติในแววตาของเด็กๆ

2. สอนให้เรียน
“สอนให้เรียน” ฟังดูเหมือนเล่นคำ เพราะจริงๆ แล้วครูมีหน้าที่สอนนักเรียนไม่ใช่หรือ แต่ทว่า “สอนให้เรียน” นั้นเป็นสามคำที่ละเอียดอ่อนและน่าค้นหากว่าที่เราคิดยิ่งนัก เพราะว่าเวลาการสอนเกิดขึ้นในห้องเรียนนั้นไม่ได้แปลว่าการเรียนจะต้องเกิดขึ้นด้วยเสมอไป คนเรามีวิธีเรียนที่ต่างกัน บางคนต้องการให้มีครูสอนตัวต่อตัว แต่บางคนไม่จำเป็นต้องฟังครูก็ยังเรียนได้ ขอแค่มีหนังสือดีๆ มีอินเทอร์เน็ตไวๆ และมีที่สงบๆ ให้เรียน แม้กระทั่งเมื่อเด็กเหล่านี้เข้าสู่วัยทำงาน คนที่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าก็ยังจะเป็นคนที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นมาก

“สอนให้เรียน” จึงแปลว่าสอนอย่างไรให้คนเราค้นพบวิธีเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ากับตัวเองที่สุด จะอ่านอย่างไรให้ไวและได้ใจความ จะทำการบ้านตอนเช้าหรือตอนเย็น จะแบ่งเวลาพักกับเวลาทำงานอย่างไร น่าเสียดายที่ขณะนี้ดูเหมือนว่าทักษะเหล่านี้จะยังไม่มีโรงเรียนไหนสอนเลย ส่วนมากทักษะการเรียนเหล่านี้มักจะเป็นผลพลอยได้จากสภาวะแวดล้อมในโรงเรียน เรามักจะปล่อยให้ทักษะเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาเองแบบเป็นไปตามธรรมชาติ แต่สภาวะแวดล้อมในโรงเรียนแบบไหนที่จะทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะพวกนี้ขึ้นมาได้ง่ายกว่า ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างแข่งขันสูงและมีกิจกรรมให้เด็กทำจนตารางเวลาแทบไม่ว่างจะได้ทำให้เด็กค้นหาวิธีเรียนให้มีประสิทธิภาพที่สุดในเวลาที่จำกัด พูดง่ายๆ ก็คือสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อให้เด็กๆ “ทำน้อยให้ได้มาก” นั่นเอง

3. สอนว่า “คิด” ≠ “รู้”
ข้อแตกต่างข้อนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในหมู่นักปรัชญาและนักรัฐศาสตร์ ในมุมมองของผู้เขียน รู้คือรู้ในสิ่งที่รู้ได้ ยกตัวอย่างเช่น รู้ว่าประเทศไทยมีดินแดนกว้างเท่าไร รู้ว่าขับรถยังไง ไปบ้านเพื่อนยังไง รู้ว่าหากเพิ่มความร้อนให้กับน้ำมากและนานพอน้ำจะเดือด แต่ในทางกลับกัน การคิดคือการก้าวไปให้ไกลกว่าพรมแดนและข้อจำกัดของความรู้ เป็นการคิดถึงเป้าหมายของความรู้และเป็นการเข้าไปสู่บางสิ่งที่จะรู้ยังไงก็รู้ไม่ได้ด้วยซ้ำ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเราคิดกันจริงๆ จังๆ น้อยเหลือเกินในโลกสมัยนี้เพราะเราไม่จำเป็นต้องคิดก็รู้ได้ ในวันหนึ่งจะมีกี่นาทีเชียวที่เราหยุดทำอย่างอื่นแล้ว “คิด” อย่างจริงๆ จังๆ สมัยนี้ไม่รู้อะไรก็ต์ขึ้นมาได้ภายในห้าวินาที จะเสียเวลานั่งคิดไปทำไม

             ผู้เขียนเห็นว่าความคิดสำคัญไม่แพ้ความรู้เพราะว่าการไร้ซึ่งความคิดนั้นมีอันตรายแอบแฝงอยู่ แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในแนวคิดของ Hannah Arendt (ฮานนาห์ อาเร็นดต์) นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมัน เธอคิดว่าการไร้ซึ่งความคิดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเยอรมันจำนวนไม่น้อยที่มีจิตปกติกลับฟังและทำตามคำสั่งเพื่อฆ่าชาวยิวอย่างโหดเหี้ยมและชินชา แม้ว่าบ้านเมืองเราจะไม่อยู่ในสถานะเป็นตายแบบในสมัยสงครามโลก แต่การมีความคิดนั้นก็ยังมีสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตเพื่อให้ไม่เราโดนเอาเปรียบหรือไม่หลงทำอะไรผิดๆ ไป

            หากเรารู้แต่ไม่คิด เราอาจตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อให้เลือกอะไรที่ไม่ได้ดีต่อเราจริงหรืออะไรที่เราไม่ได้ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ที่บริษัทต่างๆ แข่งขันกันมากถึงขั้นต้องแข่งกัน “ป้อน” ความคิดแบบเนียนๆ ให้กับผู้บริโภค ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามนี้แล้วจะสวยเหมือนดารา ดื่มน้ำนี้แล้วจะมีออร่าดุจดั่งพระเอกละคร ตัวอย่างในด้านสังคมและการเมือง เช่น การตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศก็คล้ายกับตัวอย่างข้างต้นอย่างน่าตกใจ เพียงแค่ว่าผลิตภัณฑ์ชนิดการเมืองการปกครองนั้นมีราคาแฝงที่แพงและกระทบผู้คนมากมากว่าการซื้อแชมพูหรือเครื่องดื่มแก้กระหายเท่านั้นเอง

            อีกจุดหนึ่งที่ต้องย้ำคือการเข้าใจว่าการไร้ซึ่งความคิดนั้นไม่ได้แปลว่าโง่เขลาหรือด้อยความรู้ เพราะว่าคนฉลาดก็ยังไร้ซึ่งความคิดได้ เพราะฉะนั้น สังคมไม่ควรมีแค่เป้าหมายที่จะผลิตคนรุ่นใหม่ที่ฉลาดรอบรู้แต่อย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงการปลูกฝังนิสัยช่างคิดเอาไว้ด้วย เพราะนั่นจะเป็นของขวัญชิ้นที่มีค่าที่สุดที่ใครที่ไหนก็เอาไปจากพวกเขาไม่ได้

              สิ่งที่โรงเรียนทำได้ในข้อนี้คงจะเป็นการส่งเสริมนิสัยช่างคิดกับการประเมินผลการเรียนที่อิงการใช้ความคิดมากกว่าการใช้ความรู้ ข้อสอบแบบปรนัยในประเทศไทยมักจะเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาหลักในคดีทำให้เด็กไม่ได้คิด ในกรณีที่คำถามมีคำตอบชัดเจนนั้น ผู้เขียนคิดว่าข้อสอบแบบปรนัยไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไปและสามารถออกข้อสอบปรนัยให้เกิดกระบวน การคิดจริงๆ ก็ทำได้หากผู้ออกข้อสอบตั้งใจสร้างโครงสร้างคำถามให้ดีพอ ไม่ใช่ออกข้อสอบปรนัยที่ “ยาก” แต่เหมือนกับว่าเป้าหมายหลักคือจะคัดเด็กออกไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้แต่ในกรณีที่คำตอบที่ถูกต้องนั้นยังไม่มีแน่นอนยิ่งไม่ควรทำข้อสอบแบบปรนัย ควรจะเป็นคำถามแบบข้อเขียน เรียงความหรือควรจะประเมินความเห็นที่นักเรียนแสดงออกมาในระหว่างคาบเรียนเสียมากกว่า

4. สอนให้เถียงและออกความเห็น (แบบศิวิไลซ์)
“สอนให้เถียง” นั้นไม่ได้หมายความว่าให้สอนให้เด็ก ไร้กาลเทศะหรือสอนให้พูดจาย้อนผู้ใหญ่ ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่เป็นการสอนพื้นฐานของทักษะที่มีความจำเป็นเหลือเกินต่อการดำรงชีวิตให้มีสุข การทำงานให้ประสบความสําเร็จ และการทำหน้าที่เป็นประชากรคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย หากเราลองนึกดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในสมองเราเวลาเราเถียงและเจรจาอย่างมีเหตุผล มันมีทั้งการฟัง การประเมินสถานการณ์ การคิด และการพูดอย่างมีชั้นเชิง เพื่อที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ สิ่งเหล่านี้ดูไร้ประโยชน์สิ้นดีในห้องสอบแต่กลับจะมามีประโยชน์เหลือเกินเมื่อคนเราโตขึ้นและจะต้องเริ่มบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เช่น คนรัก เพื่อน หรือนายจ้าง

            นอกจากนั้น ทักษะและนิสัยในการชอบเถียงอย่างมีเหตุผลนั้นยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย มันเป็นเหมือนเป็นทักษะในการควบคุมฟืนไฟในการผลักดันสังคมให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีเหตุมีผลโดยที่ไม่ทำให้เราทะเลาะกันเองด้วยอารมณ์จนมอดไหม้ด้วยฟืนไฟนั้นไปซะก่อน ประโยชน์ของการสอนให้เถียงและออกความเห็นอย่างมีเหตุผลนั้นจะมาจาก 2 ทางหลักๆ
- ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีอิสระมากขึ้น
- การเพิ่มประสิทธิภาพของครูทางอ้อม


            หากเด็กไทยจะโต้แย้งด้วยเหตุผลสู้ชาติอื่นไม่ได้ก็คงจะมาจากการที่ไม่เคยเถียงได้จริงๆ ด้วยซ้ำในห้องเรียน แม้ว่าจะเคยมีการผลักดันแนวคิดแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง การโต้แย้งว่าอาจารย์พูดผิด ไม่เชื่อในสิ่งที่อาจารย์สอน หรือแสดงความคิดเห็นที่อาจจะต่างกับสิ่งที่ครูสอนนั้นในบ้านเราโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นการเสียมารยาทและไม่รู้จักกาลเทศะ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรเป็นเช่นนั้นทุกกรณีไป เพราะว่าการเป็นผู้ช่างสงสัย (skeptic) ในห้องเรียนนั้นทำให้การเข้าใจคอนเซ็ปต์ยากๆ เช่น ทฤษฎีบทต่างๆ ในสาขาคณิตศาสตร์กระจ่างขึ้นมาก คือเริ่มจากความไม่เชื่อก่อนแล้วค่อยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างช้าๆ จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าทำไมสิ่งที่เรียนอยู่ถึง “จริง” แล้วค่อยเชื่อในความรู้ชิ้นนั้น ไม่ใช่ยอมอ้าปากรับความรู้เอาดื้อๆ

              ยิ่งไปกว่านั้น จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนคุยกับเพื่อนๆ หลังเลิกเรียนพบว่าจริงๆ แล้วไม่มีครูคนไหนที่สอนได้สมบูรณ์แบบจากการพูดหน้าชั้นแค่รอบเดียว มันต้องมีนักเรียนบางคนหรือหลายคนเลยที่ฟังอะไรบางอย่างแล้วไม่เข้าใจ การที่เราไม่เปิดโอกาสให้เด็กเถียงหรือออกความเห็นอย่างมีอิสระตั้งแต่เด็กจะทำให้พวกเขาโตขึ้นมาชินชากับความเชื่องของพวกเขาแล้วเขาก็จะเลิกยกมือเลิกสงสัยในที่สุด 

              เพราะฉะนั้น เราควรตัดสินใจว่าจะแยกแยะ “มารยาททางสังคม” กับ “การเรียนรู้” ออกจากกันอย่างไรดี ถึงจะทำให้การเรียนรู้ที่ให้อิสระและอำนาจกับนักเรียนนั้นเข้ากับวัฒนธรรมไทยเดิมที่อยู่กับเรามานาน

              ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างกับวัฒนธรรมในห้องเรียนอเมริกันโดยสิ้นเชิง นักเรียนอเมริกันส่วนมากไม่ได้ให้เกียรติอาจารย์เพราะตำแหน่งหรือความอาวุโส อีกทั้งอาชีพอาจารย์ในสังคมคนอเมริกันรุ่นใหม่ยังถือว่า “ไม่เจ๋งเลย” ด้วยซ้ำไป แต่พวกเขาให้เกียรติอาจารย์เพราะอาจารย์พิสูจน์ตัวเองได้หน้าชั้นเรียนว่าเป็นผู้มีความรู้ที่ถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรแก่ความเคารพนับถือ การพิสูจน์ตัวเองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในห้องเรียนอนุบาล ไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มที่ระดับมหาวิทยาลัย เหตุผลหนึ่งคือเพราะว่าในโรงเรียนส่วนมากที่อเมริกาครูใช้แรง ใช้การขู่ หรือใช้การตวาด เพื่อให้เด็ก “เชื่อฟัง” ไม่ได้ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อชนะใจเด็กๆ ด้วยความเป็นครู

              ผู้เขียนคิดว่าอาจารย์ในอุดมคติก็น่าจะต้องการให้ความเคารพของเด็กๆ มาจากฝีมือของตน ไม่ใช่มาจากตำแหน่งหรือความอวุโส หากเป็นเช่นนี้ได้ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรมาขัดขวางความคิดใหม่ๆ ที่น่าถกเถียงต่อยอดขึ้นไปอีกได้ นี่สิคือการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

5. สอนให้เขียน
จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการศึกษาในเมืองไทยและต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่าหลักสูตรไทยควรเน้นให้เด็กๆ เขียนบ่อยกว่านี้มาก ยังจำได้แม่นว่าสมัยยังเป็นนักเรียนประถมและมัธยมได้มีโอกาสเขียนอะไรยาวๆ จริงๆ จังๆ (ไม่นับข้อสอบข้อเขียนสั้นๆ) แค่เฉลี่ยปีละสามครั้งคือ วันพ่อ วันแม่ และวันสุนทรภู่ (แต่งกลอนแข่ง) เวลาที่เหลือเอาไปเน้นติวเลขกับวิทยาศาสตร์หรือเอาไปเรียนพิเศษ ในขณะที่เด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกันในประเทศอื่นหลายประเทศเขามีโอกาสเขียนวิเคราะห์อะไรที่ลึกๆ ยากๆ มากมายตั้งแต่เล็ก หัวข้อเรียงความก็จะไม่ใช่แค่การอ่านนิยายแล้วเขียนว่าอะไรเกิดขึ้น ใครไปที่ไหน ใครพูดว่าอะไร อย่างนั้นแค่อ่านหนังสือเป็น เขียน ก ไก่ ข ไข่เป็นก็ทำได้ ไม่นับว่าเขียนได้ แต่จะต้องเป็นการวิเคราะห์อะไรที่ลึกซึ่งกว่านั้นมากและเป็นโอกาสให้เด็กรู้จักใส่ความคิดของตัวเองลงไปด้วย ไม่ใช่แค่การอ่านจับใจความ

สามก๊กตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊านั้นเป็นหนึ่งในนิทานร้อยแก้วที่ผมชอบมากที่สุด แต่ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมข้อสอบมักถามเราอย่างกับเราเป็นหุ่นยนต์ เหมือนกับว่าทุกอย่างมีคำตอบที่แท้จริงหมด ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถามว่าเล่าปี่ เตียวหุย กวนอู ยกทัพไล่หรือยกทัพหนีกี่ครั้ง หรือให้เรายกตัวอย่างว่าจูล่งแสดงฝีมือรบที่ดีตอนไหนบ้างในเรื่อง หรือถามว่าอาเต๊าเป็นบุตรของใคร จริงอยู่สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องแต่มันเป็นแค่องค์ประกอบ โจทย์ที่ท้าทายกว่าน่าจะเป็นการให้เด็กเขียนเรียงความหาหลักฐานที่แฝงอยู่ในสามก๊กตอนอื่นมาเถียงว่าเพราะเหตุใดจูล่งจึงยอมลำบากเสี่ยงตายไปรับอาเต๊าให้เล่าปี่แล้วค่อยให้คะแนนนักเรียนตรงความสามารถในการวิเคราะห์หลักฐานและการเขียนเพื่อโน้มน้าวความเห็นของผู้อ่าน

บางทีการกระทำของตัวละครในบทละครหรือนิยายนั้นไม่สามารถตอบได้ด้วยการวงปรนัยหรือการเขียนแค่สามสี่ประโยค การที่นางบิฮูหยิน (ภรรยารองของเล่าปี่) ยอมโดดน้ำตายเมื่อเห็นจูล่งวิ่งมาหรือการที่เล่าปี่ทำเป็นโกรธและทิ้งอาเต๊าลงตอนที่จูล่งเอาบุตรตนเองมาส่งนั้นเป็นการกระทำที่ซับซ้อนมากและไม่ควรฟันธงว่านิสัยของบิฮูหยินกับเล่าปี่เป็นอย่างไรจากแค่การกระทำเดียว ใครเคยอ่านสามก๊กจบจะทราบว่าเล่าปี่เป็นตัวละครที่ซับซ้อนและไม่ได้สมบูรณ์แบบ การถามว่า “นาย ก. ทำอย่างนี้แปลว่านาย ก. เป็นคนอย่างไร” จะกลายเป็นการยัดเยียดข้อมูลและความคิดเห็นของผู้สอนหรือผู้สร้างหลักสูตรให้กับนักเรียน กลายเป็นการบังคับให้เชื่อมการกระทำดังกล่าวกับนิสัยบางอย่างโดยที่ไม่ได้เกิดกระบวนการคิดเลยสักนิดเดียวว่าคำตอบนั้นมันเหมาะสมแค่ไหน

การเพิ่มโอกาสให้นักเรียนเขียนมากขึ้นนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการบังคับให้นักเรียนท่องจำแล้วฝนปรนัย ไหนจะต้องมาฝึกครูให้สอนวิธีเขียน ต้องเจียดเวลาคาบภาษาไทยมาสอนวิธีเขียนให้นักเรียน และยังต้องเสียเวลาตรวจเรียงความเป็นร้อยๆ เรื่องต่อปี ในมุมมองเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นการสอนภาษาไทยแบบดั้งเดิมทำได้ไม่เลวเลยในการทำให้นักเรียนทั่วประเทศอ่านออกเขียนได้และจับใจความจากการอ่านได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด แต่ทักษะพื้นฐานเหล่านี้ไม่พอแล้วในโลกสมัยนี้ที่การแข่งขันสูง



             ท้ายสุดนี้ผู้เขียนคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเพิ่มความคาดหวังในตัวเด็กไทย ให้พวกเขาไปได้ไกลกว่าการท่องจำ การแห่ไปเรียนพิเศษแถวสยาม และการพ่นความรู้ออกมาได้มากที่สุดในข้อสอบปลายภาค ผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้สอนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำทั้งห้าอย่างในบทความนี้ทุกวันอยู่แล้ว ขอให้พวกท่านจงทำต่อไปเพราะผู้เขียนเชื่อว่าห้าอย่างนี้ยังจะคงความสำคัญไว้ไม่ว่าโลกนี้จะพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ตาม


 
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
Rewrite จาก ธารา อิสสระ  (พี่แฮนด์)

เรียบเรียงโดย : พี่นุ๊ก eduzones

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยุคการศึกษา 4.0

......การศึกษาทักษะการเรียนรู้ การสร้างการใช้นวัตกรรมเครืข่ายสังคมอนไลน์ สำหรับผู้เรียนสำหรับการจัดการความรู้ ที่สามารถแบ่งปันความคิด ความเป็นเลิศทางวิชาการ รูปภาพและอื่นๆ อีกมากมายสำหรับนวัตกรรมนี้ ทำให้การทำงานสะวกรวดเร็ว สวยงาม เหมาะสำหรับนัเรียนและครูผู้สอน ใช้เป็นเว็บการจัการความรู้และใช้เป็นเครื่องมือ ารเรียนรู้สังคมอนไลน์ เพื่อจัดการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพระสิทธิผล ในยุคการศึกษา 4.0 (การเรียนรู้ศตวรรษที่ 21)

เว็บบล๊อคประกอบการเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง ระบบการเรียน การจัดการความรู้ KM (Knowlead Maneagement) เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ ศตวรรษที่ 21 ในโรงเรียน Worl Class Standrad ประกอบด้วย 4 ทักษะพื้นฐาน คือ

  • (1) ทักษะภาษาดิจิทัล
  • (2) ทักษะคิดประดิษฐ์สร้าง
  • (3) ทักษะสื่อสารมีประสิทธิภาพ
  • (4) ทักษะสื่อสารมีประสิทธิผล

พัฒนาสู่ทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ขั้นต้น 6 ประการ

  • (1) ทักษะการเรียนรู้ Learning Skills
  • (2) ทักษะการคิด Thinking Skills
  • (3) ทักษะการแก้ปัญหา Problerm Skills
  • (4) ทักษะชีวิต Life Skills
  • (5) ทักษะการใช้เทคโนโลยี Technology Skills
  • (6) ทักษะการสื่อสาร Communication Skill


........การจัดการเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ครูใช้วิธีการสอนแบบเดิม แบบเล็กเชอร์ไม่ได้ผล กระบวนการต้องจัดให้ลงมือทำ และเรียนรู้แบบย้อนทาง ต้องให้แอกตีฟ และเรียนตามความสนใจให้มากขึ้น

........เป้าหมายของการเรียนรู้มิใช่ ”ตัวความรู้” อีกต่อไป เพราะตัวความรู้นั้นมีมายมายมหาศาล เกินกว่าที่จะสอนให้นักเรียนแต่ละชั้นปีได้ .

........นักเรียนในยุคใหม่มีหนทางค้นหาความรู้ด้วยตนเอง (จากก้อนเมฆ) เป้าหมายของการเรียนรู้อยู่ที่“ทักษะการเรียนรู้” และ "วิธีการจัดการกับความรู้ "

.......หากผู้เรียนมีทักษะพื้นฐาน และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ ตามที่กำหนด ก็จะทำให้เกิดระบบและกระบวนการเรียนรู้ในเนื้อหาวิชาต่างๆ เป็นไปด้วยประสิทธิภาพประสิทธิผล ตรงเจตนารมณ์ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาชาติ "ผู้เรียนเป็นคนดี ผู้เรียนเป็นคนเก่ง ผู้เรียนมีความสุข"

.........เว็บนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ วิชา หน้าที่พลเมือง (สาระเพิ่ม) ชั้น ม.1


................................

ผู้จัทำ


ครูชาญวิทย์ ปรีชาาณิชพัฒนา

(ครูผู้สอน)

Blogger Educational

Blogger Educational
Glitter Photos